วันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557

จตุธาตุววัตถาน


บทที่ 5 จตุธาตุววัตถาน

เนื้อหา บทที่ 5 จตุธาตุววัตถาน


§ 5.1 ความเป็นมา


§ 5.2 ความหมายของจตุธาตุววัตถาน


§ 5.3 วิธีการเจริญกัมมัฏฐาน


§ 5.3.1 วิธีพิจารณาโดยย่อ


§ 5.3.2 วิธีพิจารณาโดยพิสดาร


§ 5.4 การเจริญจตุธาตุววัตถานเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย


§ 5.5 อานิสงส์ 8 ประการที่ได้รับจากการเจริญธาตุทั้ง 4


แนวคิด


1.จตุธาตุววัตถาน คือ การพิจารณาธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ในร่างกาย เพื่อให้จิตเป็นอิสระจากความยึดถือว่าเป็นตัว ตน บุคคล เรา เขา


2.การเจริญกัมมัฏฐาน มีทั้งการเจริญโดยย่อสำหรับพวกที่ปัญญาแก่กล้า แต่สำหรับ พวกปัญญาไม่แก่กล้า ควร ใช้การเจริญโดยพิสดาร หรือเจริญโดยอาการ 13


3.การเจริญจตุธาตุววัตถานเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย ใช้การพิจารณาธาตุทั้ง 4 ในกาย จนใจหยุดนิ่งเป็นอุปจาร สมาธิ แล้วจึงวางไว้ที่ศูนย์กลางกาย จนใจถูกส่วนเข้าถึงดวงปฐมมรรค


4.การเจริญจตุธาตุววัตถานมีอานิสงส์ทำให้ถอนความเป็นตัวตน ปล่อยวางสิ่งต่างๆ และมีนิพพานเป็นที่ไป เป็นต้น


วัตถุประสงค์


1.เพื่อให้นักศึกษาสามารถบอกความเป็นมาและความหมายของการเจริญ จตุธาตุววัตถานได้


2.เพื่อให้นักศึกษาสามารถบอกวิธีการเจริญจตุธาตุววัตถาน


3.เพื่อให้นักศึกษาสามารถบอกวิธีการเจริญจตุธาตุววัตถานเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย


4.เพื่อให้นักศึกษาสามารถบอกอานิสงส์ของการเจริญจตุธาตุววัตถานได้


การเจริญจตุธาตุววัตถาน เป็นการปฏิบัติข้อสุดท้ายที่มีวิธีการปฏิบัติที่มีความละเอียดลึกซึ้ง ต้องใช้ปัญญาพิจารณามาก แตกต่างจากหลายๆ กัมมัฏฐาน นักศึกษาจึงควรทำความเข้าใจในการปฏิบัติดังกล่าว และลองนำมาใช้ในการปฏิบัติในชีวิตประจำวันต่อไป


5.1 ความเป็นมา


กัมมัฏฐานนี้เป็นกัมมัฏฐานข้อสุดท้ายในอารมณ์กัมมัฏฐาน 40 ที่กล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ในมหาสติปัฏฐานสูตรได้อธิบายไว้ว่า กัมมัฏฐานนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาร่างกาย ดังต่อไปนี้


“ ภิกษุย่อมพิจารณา เห็นกายนี้แหละ ตามที่ตั้งอยู่ โดยความเป็นธาตุว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีอยู่ในกายนี้ คนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ฉลาดฆ่าแม่โคแล้วนั่งแบ่งออกเป็นส่วนๆ อยู่ที่หนทางใหญ่ 4 แพร่งฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ตามที่ตั้งอยู่โดยความเป็นธาตุว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีอยู่ในกายนี้”1)


จุดมุ่งหมายสำคัญของการเจริญกัมมัฏฐานนี้ก็คือ การทำจิตให้เป็นอิสระจากความสำคัญว่ามีตัวตนในแต่ละบุคคล และเพื่อเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งซึ่งธรรมชาติอันเป็นพื้นฐานของร่างกาย โดยไม่คิดเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล


กัมมัฏฐานนี้เป็นกัมมัฏฐานที่ต้องใช้ปัญญาในการพิจารณามาก จึงเหมาะสมสำหรับคนที่เป็นพุทธิจริต ชอบคิดพิจารณาไตร่ตรองด้วยเหตุผล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น